พิธีหมั้นหมายฉบับย่อ ตอบโจทย์วิถีบ่าว-สาวยุคใหม่
การจัดพิธีหมั้นหมายสำหรับงานแต่งแบบไทย หมายถึงการนำสินสอดทองหมั้นไปมอบให้พ่อแม่ฝ่ายผู้หญิง เพื่อเป็นหลักประกันสัญญาว่าจะแต่งงานกับเจ้าสาว และเป็นสินน้ำใจให้กับพ่อแม่ของเจ้าสาวที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมาตั้งแต่เกิดจนถึงวันออกเรือน
ในปัจจุบัน ขั้นตอน และพิธีหมั้นหมายต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลง และปรับลดรายละเอียดขั้นตอนการจัดงานให้รวบรัดแตกต่างไปจากประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของหนุ่มสาวที่เน้นความสะดวก ประหยัด และเรียบง่าย แม้ว่าพิธีหมั้นหมาย และจัดงานแต่งงานจะปรับลดรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละขั้นตอนลง แต่หลักการจัดเตรียมขันหมากก็ยังคงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่อย่างครบถ้วนไม่ต่างกัน
ในการจัดพิธีหมั้นหมายแบบเรียบง่าย จะไม่มีการยกหรือแห่ขบวนขันหมาก หรือรดน้ำสังข์แต่อย่างใด มักทำเพียงแค่เตรียมเชี่ยนหมาก พลู สำหรับไหว้ญาติผู้ใหญ่ เตรียมของหมั้นหมายตามที่ได้ตกลงมาในพิธีสู่ขอ เพียงเท่านั้น หรืออาจจะมีการเตรียมพานขันหมาก และบริวารมาตั้งสู่ขอก็ได้เช่นเดียวกัน แล้วแต่ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงในพิธีสู่ขอก่อนหน้าวันพิธีหมั้นหมาย
ลำดับพิธีงานหมั้นหมายฉบับย่อ
- มอบขันหมากหมั้นหมาย – เมื่อได้ฤกษ์ “ฝ่ายชาย” ซึ่งเป็นผู้จัดเตรียมขันหมากหมั้นหมาย นำโดยเถ้าแก่ฝ่ายชายซึ่งเป็นคนเดียวกับเถ้าแก่ผู้ทำหน้าที่เจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง นำขันหมากหมั้นหมายไปมอบให้กับเถ้าแก่ของฝ่ายหญิง
- เถ้าแก่เจรจาสู่ขอ – ในขั้นตอนสู่ขอ เป็นลำดับขั้นตอนที่ให้เถ้าแก่ของฝ่ายชายพูดคุยสู่ขอ ซึ่งคุณสมบัติของเถ้าแก่สู่ขอ คือ เป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่เคยมีประวัติหย่าร้าง อยู่กินกันมาเป็นระยะเวลานาน ชีวิตคู่มีความสุข เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่น เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่คู่บ่าวสาว ถือเป็นเคล็ด และนิมิตรหมายอันดีว่า ให้บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่มีความสุข อยู่กันจนแก่เฒ่า
- พิธีแลกแหวนหมั้น และของหมั้น – การแลกแหวนหมั้น และมอบสินสอดหมั้น โดยมอบให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ก็เป็นอันเสร็จพิธีหมั้นหมาย ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีเลี้ยงอาหารสำหรับแขก และญาติที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการขอบคุณ และเลี้ยงฉลองไปด้วย
ฝ่ายชายต้องเตรียมอะไรบ้าง ในขันหมากหมั้นหมาย
การจัดขันหมากหมั้นหมายนั้น ประกอบไปด้วยพานเงิน พานทอง พานสินสอด ตามที่ได้ตกลงกับทางฝ่ายหญิงไว้ และยังมีพานขันหมากเอก อันประกอบด้วย
- หมากดิบ 8 ลูก
- พลู 8 เรียง
- ถั่วเขียว 1 ถุง
- ข้าวเปลือก 1 ถุง
- งาดำ 1 ถุง
- ข้าวตอก 1 ถุง
- ใบเงิน, ใบทอง และใบนาก
โดยขันหมากหมั้นหมายส่วนใหญ่แล้ว จะไม่มีขันหมากโท เช่น ขนม ต้นกล้วย ต้นอ้อย เป็นต้น
และการ “จัดงานหมั้นหมายฉบับย่อ” นั้นมักไม่มีการกั้นประตูเงิน ประตูทอง ไม่มีการนับขันหมาก และนับเงินสินสอด เรียกง่ายๆ ว่า ตัดพิธีการ และพิธีรีตรองออกไป คงเหลือไว้เฉพาะพิธีหมั้นหมายอันดีงาม คงไว้ซึ่งฤกษ์ตามเวลามงคล ตามที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกนั่นเอง
หากท่านใดสนใจศึกษาขั้นตอนพิธีหมั้นหมายอย่างละเอียด "คลิก"
หวังว่าเคล็ดลับการจัดงานพิธีหมั้นหมายฉบับย่อจากอิมแพ็ค เวดดิ้ง นี้ จะทำให้บ่าว-สาวทุกคนเข้าใจถึงพิธีหมั้นหมายแบบเรียบง่ายมากขึ้น สำหรับบ่าว-สาวท่านใดจัดงานแต่งงานกับทางอิมแพ็ค เวดดิ้ง ทางเราก็มีทีมงานคอยให้บริการด้านการจัดงานแต่งงาน รวมถึงให้คำแนะนำลำดับขั้นตอนของพิธีหมั้นหมาย พร้อมแนะนำพิธีกร หรือร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับพิธีหมั้นหมายให้ท่านได้
หากคู่บ่าว-สาวสนใจเข้าชมสถานที่ หรือขอแพ็คเกจของอิมแพ็ค เวดดิ้ง ติดต่อได้ที่ 02 833 5252
รายละเอียดเพิ่มเติม: IMPACT Wedding Instagram หรือ IMPACT Wedding Facebook
ติดต่อเรา :👉🏻 คลิก👈🏻