พิธีแต่งงานแบบไทย
พิธีสงฆ์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือ พิธีเลี้ยงพระ
ลำดับขั้นตอนการจัดงานแต่งงานในพิธีแบบไทยแท้เป็นพิธีการที่มีขั้นตอนและรายละเอียดที่งดงาม ซึ่งประกอบด้วยหลายพิธีการ โดยแต่ละขั้นตอนของแต่ละพิธีการก็มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น การแห่ขบวนขันหมาก พิธีรดน้ำสังข์ พิธีสงฆ์หรือพิธีเจริญพระพุทธมนต์ รวมถึง พิธีส่งตัว
สำหรับคู่บ่าวสาวที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่นิยมจัดงานพิธีสงฆ์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือ พิธีเลี้ยงพรในช่วงเช้าของวันแต่งงาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติพิธีทางศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นสิริมงคลและอำนวยความสุขแก่คู่บ่าวสาว และมีการอำนวยอวยพรให้บ่าวสาวพบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป
ในอดีตการจัดงานแต่งงานในพิธีแต่งงานแบบไทยจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงเย็นของวันสุกดิบ หรือวันก่อนวันแต่งงานหนึ่งวัน เมื่อถึงเช้าวันแต่งงานก็จะตักบาตรร่วมขันเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันด้วยความสะดวกและประหยัดเวลา จึงนิยมทำพิธีกันในช่วงเช้าของวันแต่งงาน โดยการลำดับขั้นตอนพิธีก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียนและความสะดวกของแต่ละคู่ไป ซึ่งอาจจะมีการแห่ขันหมากก่อนทำพิธีสงฆ์ หรือทำพิธีสงฆ์ก่อนการแห่ขันหมาก
ในพิธีสงฆ์นั้น จะเป็นการให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งช่วงเช้าและเพล โดยคู่บ่าวสาวจะตักบาตรร่วมกันในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารเช้าหรือเพลก็ได้ การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านหรือที่สถานที่จัดงานแต่งงานนั้น จะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เพื่อประกอบพิธี และเมื่อนับรวมพระพุทธรูปที่เป็นองค์พระประธานด้วยแล้วจะเป็นจำนวนคู่ คือ 10 รูป เพราะถือเคล็ดที่เลข 9 หรือ "เก้า" ที่เป็นคำพ้องสียงเหมือนกับคำว่า "ก้าว" ที่หมายถึงก้าวหน้า และหลังจากเสร็จพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์แล้วจะเป็นการตักบาตรร่วมกัน หรือถวายภัตตาหาร ซึ่งสามารถถวายพระและเณรได้ทั้งวัด ไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธีเท่านั้น
ในการทำพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไปนั้น เจ้าภาพจะทำหน้าที่จุดธูปเทียนบูชาพระ แต่ในงานมงคลสมรสมักนิยมให้คู่บ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในงาน รวมถึงการถวายขันและเทียนเพื่อให้พระทำน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งจะนำมาเป็นน้ำสังข์สำหรับหลั่งในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และประสาทพร
พิธีสงฆ์ใน “พิธีแต่งงานแบบไทย” นั้นโดยการลำดับขั้นตอนพิธีก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียนนิยมในแต่ละพื้นที่ ที่มีทั้งการแห่ขันหมากก่อนทำพิธีสงฆ์ หรือที่ทำพิธีสงฆ์ก่อนการแห่ขันหมากก็ได้ โดยมีเครื่องใช้ที่ต้องจัดเตรียมสำหรับพิธีสงฆ์การจัดงานแต่งงาน ดังนี้
- โต๊ะหมู่บูชาหนึ่งชุด เพื่อตั้งพระพุทธรูปประธาน ดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับไว้พระ
- แจกันดอกไม้ 2 ชุด ธูป 3 ดอก เทียนสีเหลือง 2 เล่ม เทียนต่อ 1 เล่ม
- เชิงเทียน และกระถางธูป
- ด้ายสายสิญจน์สำหรับทำพิธี และสายสิญจน์ที่ทำเป็นมงคลคู่ หรือมงคลแฝด โดยด้ายสายสิญจน์ที่ปลายด้านเริ่มต้นต้องพันวนไว้กับฐานพระพุทธรูป 3 รอบ โดยพันวนเป็นทักษิณาวรรต คือ เวียนจากซ้ายไปขวา แล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ เพื่อให้พระสงฆ์หยิบใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ได้อย่างสะดวก
- พานวางด้ายสายสิญจน์ซึ่งเป็นที่ตั้งของบาตรน้ำมนต์
- อุปกรณ์เครื่องเจิม หรือแป้งเจิม
- อาสานะหรือที่รองนั่งสำหรับพระสงฆ์ 9 ที่
- ขันน้ำมนต์ และที่สำหรับประพรมน้ำมนต์ (ข้าง ๆ บาตรน้ำมนต์จะวางเทียนสีขาว 1 เล่ม หนัก 1 บาท มักวางรวมไว้กับพานที่ใส่ด้ายสายสิญจน์ เพื่อใช้ในการทำน้ำมนต์ นอกจากนั้น ที่ขาดไม่ได้ยังมีมงคลแฝด และแป้งประแจะหรือแป้งกระแจะ เรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่าแป้งเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวไว้เข้าพิธีด้วย)
- ที่กรวดน้ำ กระโถน แก้วน้ำ ทิชชู
- พานใส่ของถวายพระ
- เครื่องถวายจตุปัจจัยไทยทาน หรือ ปัจจัยถวายพระสงฆ์
- ดอกไม้ธูปเทียนถวายพระ 9 ชุด
- อาหารสำหรับตักบาตร ขันข้าว ทัพพี
- ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์ 9 รูป และอาหารสำหรับแขกร่วมงาน
- ชุดเครื่องเช่นสำหรับพระพุทธ และพระภูมิเจ้าที่
ลำดับขั้นตอนของ พิธีสงฆ์ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ในงานแต่งงาน
1.พระสงฆ์ และคู่บ่าวสาวพร้อม เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่งหน้าโต๊ะหมู่บูชา (หญิงซ้ายชายขวา)
2.รับเทียนชนวนจากพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนจากซ้ายไปขวา (ของผู้จุด) แล้วจุดธูป เพื่อบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกร
3.พนมมือเสมออก กล่าวคำบูชาและอธิษฐาน โดยพิธีกรจะอาราธนาศีล จากนั้นประธานสงฆ์ให้ศีล ส่วนคู่บ่าวสาวและผู้ร่วมพิธีสงฆ์สมาทานศีล พิธีกรกล่าวอาราธนาพระปริตร
4.กราบลงที่หมอนพร้อมกัน 3 ครั้ง แล้วหันไปกราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง เสร็จแล้วนั่งพับเพียบพนมมือรับศีลฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาจุดเทียนน้ำมนต์
5.คุกเข่า รับเทียนชนวนจากพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตรน้ำมนต์ แล้วส่งเทียนชนวนคืนพิธีกรยกบาตรน้ำมนต์ด้วยกัน ประเคนพระรูปแรก (ยกพอพ้นพื้นวางลงบนผ้าที่พระท่านถือรองรับ) แล้วนั่งพับเพียบพนมมือฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ต่อ จนกว่าจะถึงเวลาตักบาตร (พระสวด ”พาหุง”)
6.ลุกไปตักบาตร (จับทัพพีด้วยกัน หยิบของใส่บาตรด้วยกัน)
7.กลับมาที่พระสงฆ์เพื่อประเคนภัตตาหารเมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ(ยกถวายด้วยกันทุกอย่าง) เสร็จแล้วกราบ พระสงฆ์ ๓ ครั้ง แล้วลุกไปพักผ่อนต้อนรับแขก ญาติมิตร ตามอัธยาศัยจนกว่าพระสงฆ์จะฉันเสร็จ
8.กลับมาที่พระสงฆ์เพื่อประเคนไทยธรรม ยกประเคนด้วยกันจนครบทุกรูป
9.กลับมานั่งพับเพียบที่เดิม ถือที่กรวดน้ำด้วยกันเตรียมกรวดน้ำ เริ่มรินน้ำเมื่อพระเริ่ม “ยถา…” โดยตั้งใจอุทิศกุศล และรีบรินน้ำให้หมดเมื่อพระรูปแรกว่าจบลง แล้วพนมมือรับพรต่อไปจนกว่าพระสงฆ์จะอนุโมทนาจบ
10.น้อมศีรษะพนมมือเข้ารับประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ทีละรูปจนครบทุกรูป เสร็จแล้วกลับมานั่งที่เดิม คุกเข่ากราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง หันไปกราบพระพุทธรูปอีก 3 ครั้ง แล้วลุกไปรอส่งพระเป็นอันเสร็จพิธี
โดยคู่บ่าว สาวจะเป็นประธานทุกขั้นตอนในพิธีการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา การจุดเทียนน้ำมนต์ การถวายของ ฯลฯ เพราะถือเป็นการทำบุญวันเกิดครอบครัวของทั้งคู่นั่นเอง ซึ่งพิธีสงฆ์ เป็นการจัดงานแต่งงานในพิธีแต่งงานแบบไทยที่จะทำก่อนเริ่มพิธีในอันดับต่อ ๆ ไป ซึ่งช่วงเวลาพิธีสงฆ์ของแต่ละงานแต่งงานของบ่าวสาวอาจจะสั้นยาวไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเจ้าภาพมีฤกษ์ยามอย่างไร หากมีเวลามากก็อาจทำตามลำดับพิธีไปจนจบแบบไม่รวบรัดตัดตอน แต่หากเจ้าภาพมีฤกษ์กระชั้นชิดควรแจ้งพระท่านไว้ก่อนว่ามีความจำเป็นต้องเสร็จพิธีก่อนเวลาเท่านี้ เพื่อให้พิธีดำเนินต่อไปได้โดยไม่เสียพิธีการสำคัญไป
หวังว่ารายละเอียดพิธีสงฆ์ของงานแต่งงานจากอิมแพ็ค เวดดิ้ง นี้ จะทำให้บ่าว-สาวทุกคนเข้าใจถึงลำดับขั้นตอนมากขึ้น สำหรับบ่าว-สาวท่านใดจัดงานแต่งงานกับทางอิมแพ็ค เวดดิ้ง ทางเราก็มีทีมงานคอยให้บริการด้านการจัดงานแต่งงาน รวมถึงให้คำแนะนำลำดับขั้นตอนของพิธีหมั้นหมาย พร้อมแนะนำพิธีกร หรือร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับพิธีหมั้นหมายให้ท่านได้
หากคู่บ่าว-สาวสนใจเข้าชมสถานที่ หรือขอแพ็คเกจของอิมแพ็ค เวดดิ้ง ติดต่อได้ที่ 02 833 5252
สนใจจัดงานหมั้นพร้อมพิธีสงฆ์ คลิกเพื่อดูแพ็คเกจ
รายละเอียดเพิ่มเติม: IMPACT Wedding Instagram หรือ IMPACT Wedding Facebook
ติดต่อเรา :👉🏻 คลิก👈🏻