สิ่งของที่ฝ่ายหญิงและชายต้องจัดเตรียมสำหรับพิธีหมั้นแบบจีน
คนไทยมีเชื้อสายจีนอยู่พอสมควร ซึ่งธรรมเนียมการแต่งงาน หรือ พิธีหมั้นแบบจีนนั้นเต็มไปด้วยความเป็นมงคลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สีแดงซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงความเป็นมงคล ความสุขและความมีอำนาจ รวมทั้งตัวอักษร ซังฮี้ (囍) ที่มีความหมายว่า มงคลคู่หรือความยินดี โดยในบทความนี้จะกล่าวถึง สิ่งของที่ทั้งฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิงต้องเตรียมสำหรับใช้ในพิธีหมั้นแบบจีน
สิ่งของที่ฝ่ายชายต้องเตรียมในพิธีหมั้นแบบจีน
สินสอด ทองหมั้น (เพ้งกิม) : เพ้ง หมายถึง เงินสินสอด กิน หมายถึง ทอง สินสอดทองหมั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้องว่าจะมากน้อยเท่าไร
- สินสอด ถ้าฝ่ายเจ้าสาวยังมีอากง หรืออาม่า (ปู่ย่า ตายาย) อยู่ ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั่งเปาอีกก้อนให้เป็นพิเศษ พร้อมด้วยชุดหมูอีกต่างหาก 1 ชุด โดย พ่อแม่ของเจ้าสาวจะเป็นผู้รับ
- ทองหมั้น นิยมใช้เครื่องประดับที่เป็นทอง 4 อย่าง "สี่เอี่ยกิม" ตามความเชื่อ ของชาวจีนว่าเลข 4 เป็นเลขมงคล เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง เป็นต้น
- ชองเงิน : จัดเป็น 4 ซอง ไว้สําหรับให้พ่อแม่ของเจ้าบ่าวมอบให้พ่อแม่ของเจ้าสาว
ชองที่ 1 > สำหรับค่านํ้านม
ชองที่ 2 > สำหรับค่าเสื้อผ้า
ชองที่ 3 > สําหรับค่าเสริมสวย แต่งหน้า ทำผม
ชองที่ 4 > สําหรับเป็นทุนตั้งตัว
จํานวนเงินในแต่ละชองขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะให้ และเงินเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวว่าจะเก็บเอาไว้เองหรือยกให้กับคู่บ่าวสาว
เครื่องขันหมาก ขึ้นอยู่กับว่าบ้านไหนนิยมอะไร ปัจจุบันก็ขึ้นกับความสะดวก ประกอบด้วย เนื้อสัตว์นำโชค นิยมใช้เป็นหมูสด เช่น ขาหมู ตับหมู กระเพาะหมูสด และส่วนใหญ่จะจัดเป็น 3 ถาด
- ถาดที่ 1: ชุดหัวหมูพร้อมกับ 4 เท้า และหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อย ติดตัวหนังสือ ซังฮี้ (囍) หมายถึง “คู่ยินดี หรือ ความสุขกำลังสอง (Double Happiness)"
- ถาดที่ 2: ถาดขาหมูสด ติดตัวหนังสือ ซังฮี้ เช่นกัน
- ถาดที่ 3: เป็นถาด “โต้วเตี้ยบะ” จะใช้เนื้อหมูตรงส่วนท้องของแม่หมู เป็นการอวยพรให้เจ้าสาวได้เป็นแม่คน แต่หากไม่สะดวกทางฝ่ายชายก็อาจใช้วิธีนำเงิน ใส่ของ และเขียนหน้าซองว่า “ไว้ซื้อขาหมู ซื้อกระเพาะหมู" แทนได้
ผลไม้มงคล
- ส้มเช้งผลสีเขียว : จํานวนเป็นเลขคู่ ติดตัวอักษรจีน ซังฮี้ (囍) ทุกผล เนื่องจากคนจีนถือว่าเลข 4 และ 8 เป็นเลขมงคล จึงนิยมใช้ 44 ผล 84 ผล หรือ ร้อยกว่าผลขี้นไป
- กล้วย : ควรใช้ทั้งยังเขียวอยู่ทั้งเครือ ถ้าจำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี และถ้าได้เป็นกล้วยแฝดอีกจะดีมาก ในการจัดขันหมากให้ใช้กระดาษแดงพันที่ก้านเครือกล้วย และติดตัวอักษรจีน (ซังฮี้) บนเครือกล้วย และทาสีแดงบนกล้วยทุกใบ เมื่อเสร็จพิธีฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้นำกล้วยกลับ
ความหมายของกล้วยที่ใช้ในพิธี มี 2 ความหมาย คือ
1) อวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมากๆ เหมือนจํานวนผลที่มากของกล้วย
2) เป็นการดึงดูดสิ่งดีๆ ให้เข้ามาสู่ตัว
- อ้อย : ในพิธีจะใช้อ้อยทั้งต้นยกมาจํานวน 1 คู่ อ้อยเป็นความหมายของการมีชีวิตคู่ที่หวานชื่น ปัจจุบันคู่บ่าวสาวบางคู่อาจตัดออกไปเพราะปอกรับประทานลำบาก
ขนมขันหมาก หรือขนมแต่ง เป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้ในพิธี ซึ่งทางฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวนขนม โดยจะเป็นขนม 4 สี เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือ 5 สี เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ขนมแต่ละอย่างก็แล้วแต่จะเลือกใช้ เช่น ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะ ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน และต้องติดตัวอักษรจีน (ซังฮี้) บนขนมด้วย
*หลังพิธีหมั้นฝ่ายหญิงจะส่งคืนขนมแต่งให้กับฝ่ายชายกลับไปจำนวนครึ่งหนึ่ง เช่น ถ้าฝ่ายชายให้มา 4 กล่อง ฝ่ายหญิงก็จะส่งกลับคืนให้ 2 กล่อง
ชาลาเปาไส้หวาน หรือคุกกี้ อาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่จะนำมาไว้ใช้สําหรับแจกญาติๆ และแขกที่มาร่วมงานก็ถ้าเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมจะเขียนอักษรมงคลลงบนชาลาเปาด้วย จึงควรเตรียมให้พอกับจำนวนญาติๆ และแขก
ของไหว้ ฝ่ายชายเตรียมไว้สําหรับนําไปเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว ประกอบด้วยของไหว้ 2 ชุด
ชุดที่ 1 สําหรับไหว้เจ้าที่
ชุดที่ 2 สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
ของไหว้ควรมีให้ครบทั้งของคาว ของหวาน ผลไม้ เหล้า อาหาร 10 อย่าง ดอกไม้ ธูปเทียน และเส้นหมี่ ที่เรียกว่าเป็นของไหว้พิเศษเพื่อเป็นการอวยพรให้ชีวิตคู่ ยืนยาว และนิยมหาเถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวนหรือช่วยถือของขันหมาก เพื่อความเป็นสิริมงคล
บางกรณีฝ่ายชายอาจให้ซองเงินฝ่ายหญิงสําหรับจัดการซื้อและเตรียมของไหว้ เพราะแต่ละครอบครัว ธรรมเนียม และของไหว้อาจแตกต่างกันออกไป
สิ่งของที่ฝ่ายหญิงต้องเตรียมในพิธีหมั้นแบบจีน
ของใช้ที่นำติดตัวประกอบด้วย
เอี้ยมแต่งงานสีแดง เป็นเอี้ยมผ้าแพรสีแดง ที่กลางเอี้ยมเป็นช่องกระเป๋าปัก ตัวอักษรจีน “แป๊ะนี้ไห่เล่า" แปลว่า "อยู่กินกันจนแก่ถึง 100 ปี" พร้อมลายมังกร และหงส์ ที่มีชื่อเรียกว่า “เล้งหงกิ๊กเชี้ยง” หมายถึง เวลาของความสุขและรุ่งเรือง ที่กำลังจะมาถึง ให้คู่บ่าวสาวได้พบสิ่งดีๆ ในชีวิตคู่ ในกระเป๋าเอี้ยมแดงประกอบด้วย
- เมล็ดธัญพืช 5 อย่าง ห่อด้วยกระดาษแดง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วเขียว สาคูถั่วด้า
- เหรียญทองลายมังกร (เหรียญกิมเล้ง) เป็นการอวยพรให้ร่ำรวย
- ปากกระเป๋าเอี้ยม ประกอบด้วย
-เสียบปิ่นทองที่ท่าเป็นลาย "ยู่อี่” หมายถึง "ขอให้สมปรารถนาในทุกเรื่อง หรือ โชคดี”บางคนเรียกทับศัพท์ปิ่นทองนี้ว่า "ยู่อี่"
-เหรียญทองลายมังกร (เหรียญกิมเล้ง) เป็นการอวยพรให้ร่ำรวย
- สายเอี้ยม : ถ้าเป็นเจ้าสาวที่ฐานะดี สายเอี้ยมจะใช้สร้อยคอและนิยมใช้ทองคำ หนัก 4 บาท เพราะเลข 4 เป็นเลขดี
ต้นชุงเฉ้า หรือ ต้นเมียหลวง หน้าตาเหมือนต้นกุยช่าย ซึ่งคนจีนถือเป็นต้นไม้มงคล หมายถึง "เกียรติ" ให้เตรียมไว้ 2 ต้นเพื่อนำไปปลูกที่บ้านเจ้าบ่าว
แผ่นหัวใจสีแดง สำหรับติดเครื่องประดับเพชร ประดับทอง จำนวนชิ้นมาก น้อยขึ้นกับฐานะเจ้าสาว
กะละมังแดง 2 ใบ
ถังน้ำแดง 2 ใบ
กระป๋องน้ำแดง 2 ใบ
กระโถน 1 ใบ
กระจก กรรไกร ด้าย เข็ม
ถาดที่ต้องจัดเป็นคู่ ที่คู่ก็ได้ มีตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดงสำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว
หมอน 1 ชุด (มี 4 หรือ 5 ใบ) ประกอบด้วย หมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุน 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ(ไม่มีก็ได้) ผ้าปูที่นอน และผ้าห่ม อย่างละ 1 ผืน
หวี 4 เล่ม เพื่อเป็นเคล็ดว่า "ซี้ชี้อู่หอซิว” แปลว่า ทุกๆ เวลาจะได้มีทรัพย์
อาหารและผลไม้มงคล
- ส้มเช้งสีเขียว ติดตัวหนังสือ (ซังฮี้) จำนวนมากน้อยแล้วแต่นิยม แต่ต้องเป็นเลขคู่ บางบ้านอาจจัดส้มสีทองปนไปด้วยจำนวน 4 ลูก
- กล้วย เป็นกล้วยทั้งเครือสีเขียว เพื่อเป็นเคล็ดถึงการมีลูกหลานสืบต่อวงศ์สกุลมากๆ
- ไข่สีแดง เป็นจำนวนเลขคู่ หรืออาจจะใช้เผือกแทนได้ คนจีนเรียกว่า “โอวเท้า” หมายถึง ความสมบูรณ์ เป็นเคล็ดว่าเจ้าสาวได้มีลูกสืบสกุลเยอะๆ
- โอวเต่ากิ๊ว เป็นขนมถั่วดำคลุกน้ำตาล มีแซมข้าวพองสีแดงทำเป็นลูกกลมๆ นิยมใช้ 7 คู่ (14 ลูก)
- พกท้อ ขนมรับไหว้ทำจากแป้งที่ทำเป็นรูปหัวใจ สามารถเก็บไว้ได้นาน แทนความหมายของความรักใคร่สามัคคี จะจัดไว้เป็นเลขคู่ เช่นเตรียมไว้ 14 ใบ หลังเสร็จพิธีหมั้นจะเก็บไว้ 2 ใบ และให้ฝ่ายชายนำกลับไป 12 ใบ
- ลำไยแห้ง และใบทับทิม ไว้สําหรับประดับเครื่องขันหมากที่มอบให้ฝ่ายชายนำกลับ หลังเสร็จพิธี ควรเตรียมไว้ให้มากพอสำหรับแบ่งใส่ประดับในของทุกถาดที่ฝ่ายชาย ต้องยกกลับด้วย ลำไยแห้ง หมายถึง ความหอมหวาน ใบทับทิม ถือว่าให้โชค
- เม็ดสาคู ใช้โรยบนของต่างๆ เป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวกลมเกลียว กินเหมือนเม็ดสาคู
ชุดเนื้อสัตว์มงคล ชุดหมูสดที่ฝ่ายหญิงใช้ตอบแทนฝ่ายชาย ประกอบด้วยชุดหัวใจทั้งยวงที่มีปอด และตับติดอยู่ ชุดนี้จะนำมาใช้ได้ 2 แบบ ให้ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงแบ่งไปคนละครึ่ง หรือ นำมาประกอบเป็นอาหารให้คู่บ่าวสาวรับประทานร่วมกัน เป็นเคล็ดให้ทั้งคู่ มีจิตใจรวมกันเป็นหนึ่ง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวเชื้อสายจีน และช่วยให้ทราบถึงสิ่งของที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องเตรียมในพิธีหมั้นตามขนบธรรมเนียมจีน หากบ่าวสาวท่านใด กำลังมองหาสถานที่จัดงานแต่งงาน หรือสถานที่จัดพิธีหมั้นที่มีประสบการณ์การจัดงานมาอย่างยาวนานโดยไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์
ติดต่อสอบถามที่
โทร 02 833 5252
Facebook Page: Impact Wedding