ประตูเงิน ประตูทอง กับเทคนิคคำนวนเงินในซองให้ผ่านฉลุยทุกประตู
ธรรมเนียมการกั้นประตูเงินประตูทอง นับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เรียกความสนุก สดใส เฮฮาในพิธีมงคลสมรสได้มากที่สุดกิจกรรมหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวจะได้ออกโรงเรียกเสียงหัวเราะกันได้อย่างเต็มที่ ผ่านการละเล่น หรือเกมส์ที่ท้าทายเจ้าบ่าว ไม่ว่าจะเป็นตะโกนบอกรัก, วิดพื้น, ทายใจ และอีกสารพัดไอเดียที่เพื่อนเจ้าสาวจะสรรหา ซึ่งนอกเหนือจากการยื่นซองให้เหล่าบรรดาเพื่อนเจ้าสาวแล้ว ก็ใช่ว่าจะผ่านด่านประตูเงินประตูทองไปง่ายๆ เรียกได้ว่าเปลืองทั้งซอง เปลืองทั้งแรง แต่แน่นอนว่าเจ้าบ่าว และเพื่อนๆ ต่างก็เต็มใจเล่นตามเกมส์ส่งเพื่อนไปรับเจ้าสาวให้ได้ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้น สนุกสนาน
ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ถูกต้องตามประเพณีกั้นประตูเงินประตูทอง
ฝ่ายชายเตรียมของหรือถุงใส่เงินหรือซองใส่เงินเพื่อใช้ผ่านประตู ซึ่งควรสอบถามฝ่ายหญิงก่อนว่าในวันงานจะมีทั้งหมดกี่ประตู แต่ ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะเตรียมไว้เกินกว่าจำนวนประตู
ฝ่ายหญิง เตรียมสายสร้อยเงิน ทอง นาก และเพชร ไว้สำหรับกั้นประตู โดยทั่วไปแล้ว การกั้นประตูเงินประตูทองจะเริ่มต้นที่ 3 ประตู คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง แต่หากมีญาติๆ หรือเพื่อนเจ้าสาวจำนวนมาก ก็สามารถกั้นได้มากกว่า 3 ประตู แต่ละประตูก็มีความหมายต่างกันออกไป
- ประตูชัย เป็นด่านแรกที่โดยส่วนใหญ่หากไม่ได้จัดงานที่โรงแรม ก็คือหน้าบ้านของเจ้าสาวนั่นเองจึงถือว่าเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการเปิดประตูเพื่อไปรับว่าที่เจ้าสาว
- ประตูเงิน คือ ให้มีชีวิตคู่ที่สุขสบาย ร่ำรวยด้วยเงินตรา
- ประตูทอง คือ ให้ร่ำรวยด้วยทอง และมีชีวิตคู่ที่รุ่งเรืองดั่งทองคำ
โดยในพิธีการ เด็กๆพาเถ้าแก่มายังห้องทำพิธีหมั้น แต่ก่อนถึงห้องทำพิธีจะต้องผ่านประตูเงินประตูทองเสียก่อน ซึ่งบรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง จะออกมากั้นประตู โดยถือสร้อยเงิน สร้อยทอง หรือผ้าแพรคนละฝั่งเพื่อทำเป็นประตู
เมื่อขบวนขันหมากเดินทางมายังประตูชัย ก็จะพบกับญาติๆ หรือเพื่อนเจ้าสาวยืนปิดประตูขันหมาก หรือกั้นประตูขันหมาก ที่ส่วนใหญ่จะทำจากผ้าแพรบ้าง หรือที่นิยมกันในปัจจุบัน คือกั้นด้วยสายดอกไม้สด หากเป็นงานพิธีที่ค่อนข้างมีฐานะ ก็จะกั้นด้วยสร้อยทอง เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะถามว่า “ประตูนี้ชื่อว่าอะไร” ผู้กั้นก็จะตอบว่า “ประตูชัย” และตามมาซึ่งโจทย์ท้าทายเจ้าบ่าวเรียกรอยยิ้ม และต้องให้ซองใส่เงินแก่คนกั้นประตูถึงจะผ่านไปได้ เป็นกิจกรรมสนุกที่ญาติฝ่ายหญิงชอบมาก เพราะได้หยอกล้อและแกล้งว่าที่พี่เขยก่อนแต่งงาน
ประตูถัดมา คือประตูเงิน ซึ่งจะกั้นอยู่บริเวณประตูทางเข้าภายในตัวบ้าน หรือบันไดขึ้นบ้าน เฒ่าแก่ เจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าบ่าว ก็จะทำเหมือนกับประตูชัย แต่ความเข้มข้นของการท้าทาย และการต่อรองขอซองเพิ่มก็จะมากขึ้น และมากที่สุดในประตูทอง ซึ่งเป็นประตูสุดท้าย ที่เจ้าบ่าวและเฒ่าแก่ ต้องทุ่มสุดตัวจนหมดหน้าตัก ก่อนที่จะได้เข้าไปพาเจ้าสาวออกมาทำพิธีหมั้นหมายต่อไป
ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ และต้องใช้กี่ซอง
คำถามยอดนิยมที่มักจะเกิดขึ้นกับฝ่ายเจ้าบ่าว คือการตระเตรียมซองกั้นประตูเงินประตูทอง ว่าจะต้องใส่ซองละเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม และจะต้องใช้กี่ซอง เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอประตูเงินประตูทองกี่ประตู และต้องให้ประตูละกี่ซอง ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุที่แน่ชัดว่าต้องเป็นตัวเลขเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะความเหมาะสมนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งฐานะการเงินของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาว การตกลงกันกับญาติๆ และเพื่อนเจ้าสาวก่อนวันงาน รวมถึงการให้เกียรติแก่เฒ่าแก่ที่เชิญมาถือซอง
นอกจากเจ้าบ่าวที่จะเป็นฝ่ายถือซองแล้ว เฒ่าแก่ก็เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญในการถือ และให้ซองในพิธีกั้นประตูเงินประตูทอง ในอดีตเจ้าบ่าวจะไม่ได้เป็นผู้ถือซองเลยด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันก็จะช่วยกันถือ ช่วยกันจ่ายซอง บางคนก็จะใช้ความเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ของเฒ่าแก่ในการจ่ายซองในจำนวนที่เหมาะสมอีกด้วย
วันนี้ มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการแจกซองในพิธีกั้นประตูเงินประตูทองมาฝากว่าที่บ่าว-สาวที่กำลังเตรียมงานมงคลสมรส และยังมีความกังวลในเรื่องนี้
- นัดแนะจำนวนประตูเงินประตูทองกับเจ้าสาวก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคำนวนปริมาณเงินในซอง เพราะหากเจ้าบ่าวรู้จำนวนประตูที่แน่นอนแล้ว ก็จะสามารถเกลี่ยงบประมาณให้ลงตัวต่อจำนวนซองได้อย่างง่ายดาย
- ตั้งงบประมาณสำหรับพิธีกั้นประตูเงิน ประตูทอง โดยแนะนำให้ตั้งงบประมาณเพียง 5-10% ของงบประมาณการจัดงานพิธีขันหมาก และหมั้นหมาย
- ใส่เงินในแต่ละซองไม่เท่ากัน ด้วยความที่บ่าว-สาวจะทราบดีว่าประตูทอง หรือประตูสุดท้าย คือประตูที่ผ่านได้ยากที่สุด และส่วนใหญ่คนที่กั้นประตูนี้ จะเป็นพี่น้อง ญาติที่สนิทที่สุด หรือเพื่อนเจ้าสาวที่สนิทที่สุดของเจ้าสาว ดังนั้น การแบ่งเงินในซองให้ไม่เท่ากัน จะทำให้เจ้าบ่าวสามารถวางแผนการให้ซองได้อย่างไม่มีประตูไหนมาตำหนิในภายหลังได้
- ถือซองอย่างมีเทคนิค ในบางงาน เจ้าบ่าวจะมีซอง 2-3 สีในพิธีกั้นประตูเงินประตูทอง เป็นเพราะในแต่ละซองมีเงินไม่เท่ากัน หรือหากกลัวฝ่ายเจ้าสาวจับได้ ก็จะใช้วิธีการวางซองที่มีเงินน้อยไว้ด้านบน และวางซองที่มีเงินมากไว้ด้านล่างแทนการใช้ซองหลายสี วิธีการถือซองลักษณะนี้ จะทำให้เมื่อคนกั้นประตูคนใดที่ขอซองเพิ่ม เจ้าบ่าวจะสามารถเลือกหยิบซองด้านบนที่มีเงินน้อยให้เพิ่มได้ และเมื่อมาถึงประตูสุดท้าย ก็จะยังคงมีซองที่มีเงินมากไว้สำหรับให้ญาติ และเพื่อนเจ้าสาวคนสนิทได้อยู่ตามที่ตั้งใจไว้
- อย่าลืมเหลือซองไว้สำหรับคนอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ คือคนที่มีความสำคัญกับงาน แต่อาจะไม่ได้เป็นคนกั้นประตูเงินประตูทอง เช่น เด็กๆในงาน, ญาติพี่น้อง และเพื่อนคนอื่นๆ ที่มาช่วยงาน รวมถึงคนที่ช่วยในงานพิธีต่างๆ อาทิ ผู้ถือสังข์และคอยเติมน้ำสังข์ หรือผู้ที่คอยยกน้ำชา และยื่นของรับไหว้ เป็นต้น
ทั้งนี้ พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง อาจดูเป็นเพียงพิธีเล็กๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับขั้นตอนในพิธีอื่นๆ แต่กลับมีนัยสำคัญด้านความรู้สึกแอบแฝงอยู่เป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นพิธีต้อนรับเจ้าบ่าวเข้าบ้านเจ้าสาว และเป็นความประทับใจแรกที่ฝ่ายเจ้าบ่าวควรสรรสร้างให้กับครอบครัวเจ้าสาวเพื่อเป็นการให้เกียรติ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้ จะทำให้เจ้าบ่าวคลายความกังวลไปไม่มากก็น้อย และสามารถใช้เวลาที่เหลือในการตระเตรียมงานส่วนอื่นๆ ได้
ขอบคุณภาพสวยๆจากทาง คุณพรรษนันท์ และ คุณกัลป์ฐคุณ💕
รายละเอียดเพิ่มเติม : www.facebook.com/IMPACTWedding
ติดต่อเรา :👉🏻 คลิก👈🏻