งานแต่งงาน ถือเป็นงานที่รวมบุคคลสำคัญในชีวิตของทั้งเจ้าบ่าว และเจ้าสาวมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน เพื่อเฉลิมฉลอง อวยพรให้กับความรักของทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้อง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะแก๊งค์เพื่อนสนิทที่จะขาดไปไม่ได้แม้สักคนเดียว และจะต้องรับหน้าที่เป็น “เพื่อนเจ้าบ่าว” และ “เพื่อนเจ้าสาว” ในพิธีอย่างไม่ต้องสงสัย
เพื่อนเจ้าบ่าว และ เพื่อนเจ้าสาว มีความสำคัญอย่างไร? จำเป็นต้องมีไหม? ควรมีกี่คน? มีหน้าที่ทำอะไรในงาน? และเราควรเลือกเพื่อนแบบไหนมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว?
เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว มีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งสมัยอารยธรรมโรมโบราณ เพื่อนเจ้าสาวในสมัยนั้น จะแต่งตัวด้วยชุดแบบเดียวกัน โดยจะต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวฝั่งละ 10 คน ตามความเชื่อที่ว่าจะมีหน้าที่ในการปกป้องบ่าว-สาว จากวิญญาณร้าย เมื่อเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวแต่งตัวเหมือนกัน จะทำให้วิญญาณร้ายสับสนว่าใครคือบ่าว-สาวตัวจริง อีกเหตุผลหนึ่ง คือการปกป้องเจ้าสาว และสินสอด ที่อาจโดนโจรดักขโมยระหว่างทางได้ แต่ในปัจจุบัน หน้าที่หลักของเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว คือการคอยให้ความช่วยเหลือบ่าว-สาว และดูแลความเรียบร้อยต่างๆของงาน เช่น ช่วยพาเจ้าสาวไปเข้าห้องน้ำ รับโทรศัพท์แทน เติมเมคอัพ รวมไปถึงต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน
หากถามว่าคู่บ่าว-สาว จำเป็นต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวไหม คำตอบคือ ไม่ถือเป็นข้อบังคับ หรือกฏเกณฑ์ใดๆ บ่าว-สาวสามารถจัดงานแต่งงานโดยได้รับการยอมรับจากครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายได้โดยไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว หากแต่ในพิธีจะขาดสีสัน ความสนุก และความอบอุ่นที่มาจากเพื่อนๆ อีกทั้งยังขาดลูกมือในการช่วยหยิบจับ หรือจัดแจงรายละเอียดในงานแทนบ่าว-สาว
จำนวนของเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวกี่คนถึงจะเหมาะสม ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของงาน และจำนวนเพื่อนๆ ที่คู่บ่าว-สาวไว้วางใจ และต้องการให้มาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว บางคู่รักที่ต้องการจัดงานเล็กๆ ภายในครอบครัว อาจมีเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวเพียงฝ่ายละ 2-3 คน บางคู่ที่มีเพื่อนมาก อาจแบ่งเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มพิธีหมั้นหมาย และกลุ่มงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส
อย่างที่บอกว่าเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว มักจะมีบทบาทในงานแต่งงานของคู่รักอย่างมาก ตั้งแต่ให้ความช่วยเหลือในการเตรียมงาน เชิญชวนเพื่อนๆ ดูแลความเรียบร้อยภายในงานแทนบ่าว-สาว เช่น การรับรองแขก เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเจ้าสาว รวมไปถึงสร้างความสนุก สดชื่นในงาน อาทิ พิธีกั้นประตูเงิน ประตูทอง ช่วงเปิดตัวบ่าว-สาวในงานเลี้ยง และการรับช่อดอกไม้จากเจ้าสาว เป็นต้น
ทั้งนี้ บ่าว-สาวต้องเช็คให้แน่ใจเสียก่อน ว่าเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวที่เล็งไว้นั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ ดังคุณลักษณะต่อไปนี้
1. เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว สนับสนุนการแต่งงานของบ่าว-สาวหรือไม่ ความหมายคือ เพื่อนเจ้าบ่าวจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าสาว และเพื่อนเจ้าสาว จะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าบ่าว
2. เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว มีน้ำใจสละเวลาส่วนตัวมาช่วยเหลือบ่าว-สาวในการตระเตรียมงาน ไปจนถึงดูแลทั้งคู่ในวันงานหรือไม่ ไม่ใช่แค่มาร่วมยินดีเฉพาะวันงานเพียงอย่างเดียว รวมถึงจะต้องสละเวลาในการตัดหรือเตรียมชุดของตน เพื่อให้ตรงกับธีมงานที่คู่บ่าว-สาววางแผนไว้
3. เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวควรจะเป็นเพื่อนที่บ่าว-สาวให้คำนิยามว่าเพื่อนแท้ กล่าวคือ จะต้องเป็นเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ในอดีตร่วมกัน และยังติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ บ่าว-สาวจะมีเพื่อนคนนี้ในชีวิตไปอีก 20 ปีข้างหน้า หรือมากกว่านั้น
4. ไม่ชวนเพื่อนมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว เพราะความรู้สึกผิด เช่น ถ้าไม่เชิญคนนี้ เขาอาจจะเสียใจ และคิดว่าไม่สำคัญสำหรับบ่าว-สาว เพราะหากไม่สนิทกันจริง อาจสร้างปัญหาและภาระให้กับบ่าว-สาวในอนาคตได้
บ่าว-สาว ควรพาเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาว มาดูสถานที่จัดงานล่วงหน้า เพื่อวางแผนร่วมกันในทุกๆด้าน เช่น การมอบหน้าที่ให้กับแต่ละคน บางคนอาจต้องรู้จักสถานที่เพื่อรับหน้าที่รับรองประธานในพิธี บางคนต้องรับหน้าที่เชิญมาลัยคล้อง เป็นต้น แนะนำให้พาเพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวไปตัดชุดที่ร้านเดียวกัน และนัดวันลองชุดพร้อมกัน ต่อด้วยพูดคุยรายละเอียด และดูสถานที่ภายในวันเดียว นอกจากจะเป็นการประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยสานสัมพันธ์เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวที่ต่างกลุ่มกันให้สนิทกันมากขึ้นอีกด้วย
หากคู่รักท่านใดกำลังมองหาสถานที่จัดงานแต่งงาน ที่ใส่ใจในรายละเอียด และมีทีมงานบริการครบวงจร แบบไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์
หากคู่บ่าว-สาวสนใจเข้าชมสถานที่ หรือขอแพ็คเกจของอิมแพ็ค เวดดิ้ง ติดต่อได้ที่ 02 833 5252
รายละเอียดเพิ่มเติม: IMPACT Wedding Instagram หรือ IMPACT Wedding Facebook
ติดต่อเรา :👉🏻 คลิก👈🏻