พิธีแต่งงานแบบจีน (CHINESE WEDDING CEREMONY)
ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบจีนตามประเพณีจีนนั้นมีพิธีการที่ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง ไม่แตกต่างจากพิธีแต่งงานแบบไทย แต่ปัจจุบันก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามความเหมาะสม บางครอบครัวก็จะมีการจัดพิธีแต่งงานทั้งตามแบบประเพณีไทย และ ประเพณีจีนผสมกัน เนื่องจากทางฝั่งเจ้าบ่าว หรือเจ้าสาวมีเชื้อสายจีน และไทย
อันดับแรกควรที่จะรู้ในภาพรวมของลำดับขั้นตอนพิธีแต่งงานตามประเพณีจีนก่อนว่ามีลำดับ ขั้นตอนหลักๆ อย่างไรบ้าง และฝ่ายเจ้าบ่าว หรือ เจ้าสาวจะเป็นผู้รับผิดชอบและเตรียมตัวอย่างไรในขั้นตอนของพิธีมงคลสมรสตามธรรมเนียมจีน
พิธีแต่งงานแบบจีน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ดูฤกษ์สำหรับจัดแต่งงานแบบจีน โดยให้ชินแสผูกดวง (ซึ้งเมี้ย)
- เตรียมของพิธีหมั้น
- ประกอบพิธีหมั้น
- รับตัวเจ้าสาว หรือแต่งงาน
- ส่งเข้าเรือนหอ
ขั้นตอนที่ 1 : ฝ่ายชายดูฤกษ์สำหรับจัดแต่งงานแบบจีน โดยให้ซินแสผูกดวง (ซึ้งเมี้ย)
โดยฝ่ายชาย (ครอบครัวฝ่ายชาย)จะนำ วัน เดือน ปี เกิด ของคู่บ่าว-สาว ของทั้งคู่ ไปให้ชินแสทำการผูกดวง หรือเรียกว่า “ซึ้งเมี้ย” ที่มาของฤกษ์แต่งงานก็จะแตกต่างกันไปตามความเคร่งครัด ถ้ามาจากซินแสก็จะได้มาประมาณ 6-8 ฤกษ์ มีตั้งแต่ฤกษ์ตัดชุด (ฝ่ายหญิง) ฤกษ์เสริมสวย (ฝ่ายหญิง) ฤกษ์ปูเตียง (ฝ่ายชาย) ฤกษ์แห่ขันหมาก ฤกษ์หมั้น ฤกษ์รับตัว ฤกษ์เข้าบ้านฝ่ายชาย ฤกษ์กลับบ้าน (ฝ่ายหญิง) พวกฤกษ์ต่างๆ ก็จะมีพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยกันทุกฤกษ์
ขั้นตอนที่ 2 : ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงเตรียมตัว และ เตรียมของที่จะใช้ในพิธีหมั้น
หลังจากที่ฝ่ายชายได้ฤกษ์ต่างๆ มาแล้ว ก็ทำการส่งบอกรายละเอียดของฤกษ์ยามต่างๆ ให้ฝ่ายหญิงทราบ เรียกว่า “ทงใจ๋” ในขั้นตอนนี้ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้มากมาย นอกจากจะต้องเตรียมชุดเจ้าสาวแล้ว ก็ยังต้องเตรียมของรับหมั้น และสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียม คือของใช้ตามประเพณีเพื่อการออกเรือนตามฐานะของแต่ละคน เพื่อไม่ให้ฝ่ายชายดูถูกด้วยว่า “มาแต่ตัว” และของใช้ที่นำติดตัวไปจะนิยมใช้สีแดง หรือสีชมพู เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่
สิ่งของที่ฝ่ายหญิงและชายต้องเตรียมสำหรับพิธีหมั้นแบบจีน คลิก
ขั้นตอนที่ 3 : พิธีหมั้น
ในสมัยก่อนเวลาทำพิธีหมั้นจะมีการตั้งขบวนถือถาดนำของหมั้น พวกขนม ผล ไม้เข้ามาก่อน พอสวมแหวนเสร็จ ฝ่ายเจ้าบ่าวก็ต้องออกไปตั้งขบวนใหม่ แล้วนำพานสินสอดทองหมั้นเงินทองเข้ามา แต่ปัจจุบันจะนิยมรวมเป็นขบวนเดียวกัน แต่พักของบางอย่างไว้ นําของในพิธีหมั้นมาทําให้เสร็จ แล้วค่อยนำของในพิธีส่งมอบสินสอดขึ้นมาในช่วงต่อไป
ขั้นตอนที่ 4 : พิธีรับตัวเจ้าสาว (คืนส่งตัว)
เป็นวันออกเรือนเจ้าสาว ซึ่งมักจะได้ฤกษ์กันตอนกลางคืน จนเป็นที่มาของคําว่า "คืนส่งตัว" โดยเจ้าบ่าวนั่งรถประดับด้วยโบว์สีชมพูหน้ารถ หรือบางบ้านก็ประดับตกแต่งหน้ารถด้วยดอกไม้สวยงามมารับตัวเจ้าสาวที่บ้านซึ่งลำาดับพิธีการในขั้นตอนของ พิธีรับตัวเจ้าสาวมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารมงคลที่บ้านเจ้าสาว
ก่อนที่เจ้าบ่าวจะมารับ จะมีพิธีรับประทานอาหารมงคลที่บ้านเจ้าสาวก่อน ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าเมื่อลูกคนนี้แต่งออกไปแล้วความสมบูรณ์ ความโชคดีอาจจะหายไป จึงได้มีพิธีนี้เกิดขึ้นเพื่อการแก้เคล็ด และจะมีการอวยพรเจ้าสาวด้วยการคืน อาหารให้ พร้อมกับเอ่ยคำมงคล และคำอวยพร การรับประทานอาหารจะทำหลังจากที่เจ้าสาวแต่งตัว แต่งหน้า ทำผมพร้อมแล้ว แม่เจ้าสาวจะนำปิ่นทองประดับ ด้วยใบทับทิม มาประดับบนผมของว่าที่เจ้าสาว หลังจากนั้นจึงไปจุดธูปไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่ และบรรพบุรุษ ตามลำดับ
จากนั้นจึงไปรับประทานอาหาร 10 อย่างกับครอบครัว เปรียบว่าเป็นมื้อสุดท้าย ก่อนที่จะย้ายออกไปอยู่บ้านฝ่ายเจ้าบ่าว โดยมีแม่สื่อ หรือหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้ตัก/คีบอาหารให้ลูกสาว และอวยพร พร้อมเอ่ยถึงคํามงคลที่เป็นความหมายของอาหารแต่ละชนิด ได้แก่
- วุ้นเส้น เส้นหมี่ หรือบะหมี่ หมายความว่า ให้อายุยืนยาว และรักกันนาน ๆ
- เห็ดหอม หมายความว่า ให้ชีวิตคู่หอมหวาน
- ผักกุยช่าย หรือ ผักกู้ง่าย “กู้” แปลว่า นาน หมายความว่า ให้รักกันอยู่กันนาน ๆ
- ผักเกาฮะไฉ่ คําว่า "เกาฮะ" สื่อถึง "ฮัวฮะ" ซึ่งในตํานานมี "เซียนฮัวฮะ" เป็นเซียนคู่ที่รักกันมาก จึงหมายความว่า ให้รักใคร่ปรองดองกัน
- หัวใจหมู หมายความว่า ให้รักกันเป็นใจเดียว
- ไส้หมู-กระเพาะหมู มาจากคำมงคลว่า "ฮั่วตึ๊งอิ่วโต้ว" แปลว่า ให้เปลี่ยนให้ ดียิ่งขึ้น คือ ให้ปรับตัวเข้าหากัน นิสัยใดไม่ดีก็ให้เปลี่ยนเป็นนิสัยที่ดี เพื่อให้มีความสุข และรักกันยืนยาว
- ตับ หมายความว่า ให้มีความรุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้า
- ปลา เป็นค้ามงคลว่า "อู่อู้-อู่ซุ้ง" หมายความว่า ให้ร่ำรวยมีเหลือกิน เหลือใช้
- ปู หมายความว่า ให้ทำอะไรได้คล่องแคล่วว่องไว ขยันทำมาหากินและงาน สำเร็จลุล่วงเร็วไว (เหมือนปูที่เดินเร็ววิ่งเร็ว)
- ไก่ หมายความว่า ให้มีความกล้าหาญ มีสติปัญญาและมีความเที่ยงตรง
- รับตัวเจ้าสาว-ผ่านด่าน
วันนี้เป็นวันที่ฝ่ายหญิงไม่ต้องจ่ายอะไรอีกแล้ว แต่ฝ่ายชายหรือเจ้าบ่าวต้อง เตรียมมามีดังนี้
- เจ้าบ่าวจะต้องนำชุดหมูดิบมามอบให้กับแม่เจ้าสาวที่บ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของยาบำรุงที่ท่านอุ้มท้องเจ้าสาวมา
- เตรียมอั่งเปา ไว้จ่ายเพื่อผ่านด่านไปรับเจ้าสาว และจ่ายพวกเพื่อนๆ หรือ ญาติๆที่ตามไปส่งเจ้าสาวที่บ้านเจ้าบ่าวอีกด้วย ซึ่งเจ้าบ่าวต้องเตรียมของไว้ให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายชาย เรียกว่า “เล่าตั้ว” เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงเจ้าบ่าว เป็นผู้ใหญ่ ที่เป็นตัวแทนทําหน้าที่เจรจา แต่ไม่ใช่เถ้าแก่ อาจจะเป็น พี่ชาย หรือพี่เขย ซึ่งจะต้องมีเทคนิคในการเจรจาเพื่อผ่านด่านประตูต่างๆ
เมื่อฝ่ายชายมาถึงบ้าน ฝ่ายหญิงก็ต้อนรับด้วยน้ำชา และขนมอี๊ พอได้เวลาอันสมควร เจ้าบ่าวจะต้องผ่านด่าน ประตูต่างๆ ไปหลายประตูกว่าจะได้พบตัวเจ้าสาว เรียกว่าเป็นธรรมเนียมที่สร้างความสนุกสนานมาก แต่ละด่านอาจจะง่ายหรือยาก หรือต้องมีการเล่นเกมส์ให้ผ่านก่อนจึงจะผ่านด่านแต่ละด่านได้ หรือบางที่ก็นำสร้อยมากั้นเป็นประตูเงิน ประตูทอง ประตูสมหวัง เป็นต้น
พอมาถึงตัวเจ้าสาว ซึ่งแต่งชุดวิวาห์ถือพัดแดงนั่งคอยอยู่ เจ้าบ่าวมอบช่อดอกไม้ให้ หรือถ้าเจ้าสาวสวมผ้าคลุมหน้าเจ้าบ่าวก็จะเปิดผ้าคลุมหน้าออกหลังจากมอบช่อดอกไม้
หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวก็จะทำพิธีไหว้พระ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ( ตี่จู่เอี๊ย ) ไหว้เทพเจ้าเตาไฟซึ่งอยู่ในครัว และท้ายสุดไหว้บรรพบุรุษ ของเจ้าสาว แต่ถ้าหาก ปู่ย่า-ตายายของเจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องไหว้กับตัว เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า เจ้าสาวกําลังจะออกจากครอบครัวไปแล้ว
จากนั้นทำการยกน้ำชาให้พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่เจ้าสาว (ในการยกน้ำชาตามธรรมเนียมดั้งเดิมจะทำเมื่อวันที่เจ้าสาวกลับบ้าน แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงเพราะญาติผู้ใหญ่อาจจะไม่สะดวกมาวันที่เจ้าสาวกลับมาบ้าน)
*ก่อนออกจากบ้านคู่บ่าวสาวจะต้องนั่งรับประทานขนมอี๊สีชมพู (ขนมบัวลอยจีน) ด้วยกันเพื่อเป็นเคล็ดให้การแต่งงานราบรื่น หรือบางบ้านก็ให้คู่บ่าวสาวทานอาหารมงคล 10 อย่างด้วยกันก็ได้
- ส่งตัวเจ้าสาวขึ้นรถ
พ่อเจ้าสาวจะเป็นผู้จูงเจ้าสาวขึ้นรถพร้อมอวยพรและพรมน้ำด้วยใบทับทิม หรือ บางบ้านมีความพิถีพิถันขอให้เจ้าสัวถึง 4 ท่านมาท่าเรือจมงคลให้เจ้าสาว
เจ้าสัวท่านที่ 1 : เป็นผู้จูงเจ้าสาวขึ้นรถ
เจ้าสัวท่านที่ 2 : เปิด-ปิดประตูรถให้เจ้าสาว
เจ้าสัวท่านที่ 3 : เอ่ยกลอนชี้กู่ให้ศีลให้พร
เจ้าสัวท่านที่ 4 : พรมน้ำมนต์ด้วยกิ่งทับทิมที่รถแต่งงานก่อนเคลื่อนขบวน
ซึ่งในขบวนรถเจ้าสาวต้องนั่งรถไปกับเจ้าบ่าว มีพิธีและเคล็ดดังนี้
- ต้องมีญาติฝ่ายชายของเจ้าสาว ชื่งอาจเป็น พี่ชาย น้องชาย หรือหลานชาย ถือตะเกียงที่จุดสว่างนำหน้าขบวนไป ซึ่งจะนั่งรถอีกคันแล้วขับนำหน้า หรือนั่งคันเดียวกับคู่บ่าวสาว แต่นั่งข้างหน้าก็ได้ การให้ญาติฝ่ายชายของเจ้าสาวเป็นผู้ถือตะเกียงนั้นเป็นเคล็ดว่าให้คู่บ่าวสาวได้มีลูกชายสืบสกุล
- ให้เจ้าสาวถอดต่างหูที่มีลักษณะโค้ง หรือเป็นห่วงออกทั้งสองข้าง เพราะ ถ้าใส่ออกจากบ้านหมายถึงจะกวักเงินออกไป
- ระหว่างทางจะไม่ให้คุยกับเจ้าบ่าว ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายที่จะให้สำรวม สงบ
- เจ้าสาวก็ต้องถือพัดไว้ตลอด ไม่ให้วาง ทั้งนี้เป็นกุศโลบาย เพื่อจะได้ให้มีอะไรไว้ดูแลรักษาให้ถือไว้เพื่อความสำรวม
และในขบวนก็จะมีรถที่ใส่กระเป๋า เสื้อผ้า ทรัพย์สิน ของขวัญ ของติดตัวเจ้าสาวที่พ่อแม่ให้มารวมถึงบรรดาของขวัญที่เจ้าสาวเตรียมไว้แจกญาติฝ่ายชาย เช่น สบู่ ผ้าเช็ดตัว ผ้าตัดเสื้อ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 : พิธีส่งเข้าเรือนหอ ที่บ้านเจ้าบ่าว
เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าว ตอนเจ้าสาวจะลงจากรถต้องมีฝ่ายเจ้าบ่าวมาเชิญลงเพื่อเข้าบ้าน และคู่บ่าวสาวต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้พ่อแม่ ยกน้ำชา คารวะพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ตามลำดับ และเจ้าสาวจะมอบของขวัญ ที่เตรียมมาให้ด้วย ซึ่งถือเป็นพิธีการแนะนำให้ญาติฝ่ายชายได้รู้จักกับสะใภ้ใหม่ และเจ้าสาวก็จะได้รู้จักญาติอีกฝ่ายเช่นกัน จากนั้นญาติฝ่ายชายก็มักจะมอบอั่งเปาพร้อมคำอวยพร จากนั้นคู่บ่าวสาวก็จะรับประทานขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน เป็นความเชื่อว่าจะได้รักใคร่ปรองดอง และหวานชื่นเหมือนกับรสชาติและสีของขนมหวาน
รุ่งเช้าถัดจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ลูกสะใภ้ปรนนิบัติ พ่อแม่สามี ด้วยการยกน้ำล้างหน้าให้ท่านเป็นเวลา 3 วัน หรือ 12 วันขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละครอบครัว
- เจ้าสาวกลับบ้านพ่อแม่ตนเอง
หลังจากแต่ง 3 วัน หรือ บางครอบครัว 12 วัน เจ้าสาวจะกลับบ้านพ่อแม่ของตนเองได้เรียกว่า “ตึ่งฉู่” เมื่อจะต้องกลับ ต้องมีญาติผู้ชายของเจ้าสาว เช่น น้องชายของเจ้าสาว มารับไป โดยเจ้าสาวจะต้องเตรียมส้มจํานวน 12 ผล ใส่ถาดไปด้วย เมื่อมาถึงที่บ้านฝ่ายหญิง คู่สามีภรรยาใหม่ต้องทำพิธี “ขั่งเต๊” ซึ่งคือการยกน้ำชาให้พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ทางผู้ใหญ่ก็จะให้คำอวยพร และ ทรัพย์สิน เพื่อให้คู่แต่งงานใหม่ได้ไปตั้งตัว หลังจากนั้นอาจมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขย
หวังว่าขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบจีนจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้บ่าวสาวเข้าใจในพิธีแต่งงานแบบจีนมากขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนพิธีแต่งงานตามความเหมาะสมของท่านได้ หากบ่าวสาวท่านใด กำลังมองหาสถานที่จัดงานแต่งงานที่มีห้องจัดงานแต่งงานให้เลือกหลากหลายแบบ พร้อมพนักงานที่จะคอยแนะนำให้คำปรึกษาตลอดช่วงการจัดงานแต่งงาน ไม่เฉพาะในเรื่องสถานที่จัดงานเท่านั้น แต่ยังใส่ใจไปถึงดีเทลต่างๆ ของงาน ตามที่ประสบการณ์ของทีมงานจะจัดหาให้ได้ โดยไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์
ติดต่อสอบถามที่ Impact Wedding
โทร 02 833 5252
Facebook Page: Impact Wedding