การจัดขบวนลำดับพิธีแห่ขันหมาก
ขบวนถือกล้วย อ้อย มาพร้อมกับเสียงโห่ร้อง เสียงกลองอึกทึก เป็นที่รู้กันว่ากำลังจะมีหนุ่มสาวตบเท้าเข้าประตูวิวาห์อย่างแน่นอน แต่ด้วยความเป็นพิธีรีตองที่ค่อนข้างจะซับซ้อนของการแห่ขันหมาก ทำให้บ่าวสาวยุคนี้ อาจละเลยถึงความสำคัญของพิธีแห่ขันหมากไป และคิดว่าหากไม่มีพิธีนี้ ก็ยังสามารถแต่งงานกันได้ แถมยังไม่สิ้นเปลืองเงินอีกด้วย แต่รู้หรือไม่? ว่าพิธีแห่ขันหมากนี้ มีความสำคัญมากต่อครอบครัวของเจ้าสาว แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติ และการต้อนรับเข้าเป็นสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย อีกทั้งในทางปฏิบัติ พิธีแห่ขันหมาก เป็นพิธีที่สร้างความสนุกสนาน สดชื่น เปี่ยมด้วยความรักของเพื่อนๆ และญาติพี่น้อง ที่ตั้งใจมารวมตัวกันในขบวนขันหมากของคู่บ่าวสาว
การลำดับขบวนขันหมากให้ถูกต้องตามหลักประเพณีไทย โดยเฉพาะฝ่ายเจ้าบ่าวที่ต้องมีการเตรียมงานเองในส่วนของขบวนขันหมากทั้งหมด ซึ่งการจัดขบวนขันหมากนั้น จะมีทั้งขันหมากเอกและขันหมากโท โดยขันหมากเอกจะประกอบไปด้วย
1. พานขันหมากเอก
ประกอบด้วย พลู 2 พาน ในพานจะมี หมาก 8 ผล, พลู 4 เรียง ๆ ละ 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ข้างในบรรจุ ถั่วเขียว, งาดำ, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก และซองเงิน 1 ซอง
2. พานสินสอด
พานทองหมั้น ใช้สำหรับใส่เงิน, ทอง, เพชร, นาค ไว้ในพานเดียวกัน ใช้สองพานหรือ 1 พานก็ได้ ซึ่งพานนี้จะมีผ้าคลุมไว้ ส่วนใหญ่ใช้ผ้าลูกไม้ ภายในพาน นอกจากสินสอดเงินทองแล้ว จะต้องมีใบเงิน, ใบทอง, ใบนาค, กลีบกุหลาบ, กลีบดาวเรือง, กลีบบานไม่รู้โรย, ดอกมะลิ, ดอกรัก, ถุงเงิน และถุงทอง
3.พานแหวนหมั้น
ใช้พานขนาดเล็กที่ออกแบบมาเพื่อรองรับแหวนโดยเฉพาะ ประดับพานด้วยดอกไม้ เพื่อความสวยงามวิจิตร
4. พานธูป เทียนแพ
ใช้ในการรับไหว้ผู้ใหญ่ ขนาดไม่ใหญ่มาก
5. พานผ้าสำหรับไหว้ ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้มีความนิยมในการใช้แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับบางครอบครัว
ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืน และผ้าสำหรับห่ม 1 ผืน เทียน และธูปหอม, ดอกไม้ 1 กระทง สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่ต้องจัดพานดังกล่าว แต่จะจัดในส่วนที่ 2 คือสำรับสำหรับไหว้ญาติผู้ใหญ่ พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่าย โดยการใช้ผ้าขาวสำหรับนุ่งและผ้าห่ม อย่างล่ะ 1 ผืน หรือจะใช้เสื้อผ้า หรือของอื่น ๆ แทนก็ได้ แต่ไม่ต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้
6. พานเชิญขันหมาก1 พาน
ให้เด็กผู้หญิงฝ่ายเจ้าสาว ถือต้อนรับขันหมากนำขันหมากเจ้าบ่าว
7. ร่มสีขาว2 คัน
สำหรับให้เฒ่าแก่ 2 ฝ่ายถือ
8. ช่อดอกไม้เล็กๆ
สำหรับเจ้าบ่าวถือ
9. พานต้นกล้วย1 คู่ ต้นอ้อย 1 คู่
ลำดับการจัดขบวนขันหมาก มีดังนี้
- เจ้าบ่าว ถือพานดอกไม้ธูปเทียน
- เฒ่าแก่ ผู้ใหญ่ตัวแทนฝ่ายเจ้าบ่าว
- คู่ต้นกล้วย ต้นอ้อย
- ขันหมากเอก ผู้ใหญ่ถือ
- คู่พานขันหมากพลู
- คู่พานขันหมากสินสอด
- พานแหวนหมั้น พานธูปเทียน
- ขันหมากโท
- พานไก้ต้มพานหมูนอนตอง
- คู่พานวุ้นเส้น
- คู่พาน กล้วยน้ำว้า ส้ม
- คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์
- คู่พานทองหยิบทองหยอดฝอยทอง
- ขบวนรำ
เมื่อขบวนแห่มาถึงหน้าบ้านเจ้าสาวแล้ว จะต้องเปลี่ยนลำดับขบวนขันหมาก ดังนี้
- เฒ่าแก่
- เจ้าบ่าว ถือพานดอกไม้ธูปเทียน
- ขันหมากเอก ญาติผู้ใหญ่ถือ
- ขันหมากพลู
- คู่พานสินสอด
- พานแหวนหมั้น พานธูปเทียนแพ
- ขันหมากโท
- พานไก้ต้ม พานหมูนอนตอง
- คู่พานวุ้นเส้น
- คู่พาน กล้วยน้ำว้า ส้ม
- คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์
- คู่พานทองหยิบทองหยอดฝอยทอง
- คู่ต้นกล้วย ต้นอ้อย
- ขบวนรำ
เมื่อขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเด็กๆ และญาติพี่น้องออกมากั้นขบวน โดยจะนำสร้อยเงินทอง เข็มขัดทอง มาใช้แทน เชือกกั้น เถ้าแก่ฝ่ายชายจะทำหน้าที่แจกซองเงินให้กับผู้กั้นประตูเงิน ประตูทอง จนเมื่อผ่านเข้าไปได้แล้ว เด็กผู้หญิงและผู้ใหญ่จากทางฝ่ายเจ้าสาวจะยกพานใบเล็กสำหรับรับขันหมากออกมาพูดจาต้อนรับ บรรจุหมากพลู บุหรี่ และ ไม้ขีด จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะรับพานมา อาจจะหยิบหมากหรือบุหรี่ ออกมา ก่อนส่งพานคืนให้เด็กพร้อมกับซองเงิน เด็กก็จะเดินนำไปยังที่นั่งซึ่งฝ่ายหญิงจัดไว้
เด็กหญิงที่ยกขันหมากจะต้องระวังไม่วางขันลงเลย จนกว่าจะมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวมารับไปจัดวางเตรียมทำพิธีต่อ เพราะโบราณถือว่า เมื่อคนยกขันหมากแล้ววางทิ้งไว้ จะทำให้หมั้นแล้วไม่ได้แต่ง เมื่อลงนั่งและจัดวางขันหมากเรียบร้อยแล้ว เถ้าแก่ก็จะเจรจากันในทำนองว่าเป็น วันนี้เป็นวันดี วันมงคล จึงยกขันหมากมาขอหมั้น จากนั้นฝ่ายหญิงก็จะตรวจดู แหวน สินสอด และ ทองหมั้น พร้อมทั้งเปิดขันหมากออกแกะถุงถั่วงาคลุกกับเหรียญเงินเก็บไว้ สำหรับนำไปปลูกและแบ่งไว้บูชาที่หิ้งพระในเรือนหอ
หลังจากตรวจนับสินสอดทองหมั้นเป็นที่พอใจแล้ว เถ้าแก่จะเรียกเจ้าสาวออกมากราบไหว้ผู้ใหญ่ รอถึงเวลาฤกษ์จึงสวมแหวน และมอบพวงมาลัยและของชำร่วยให้แขกเหรื่อ ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วฝ่ายหญิงจะมอบขนมขันหมากให้แก่ฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นพิธีหมั้นและเมื่อจะคืนถาดและพานให้แก่เจ้าของ ก็มักจะใส่ขนมหรือสิ่งของไปด้วย
ขนมมงคลที่ใช้ในขบวนขันหมาก มักเลือกจากชื่อที่ไพเราะ และมีความหมายดี เช่น จ่ามงกุฏ สเน่ห์จันทน์ ฝอยทอง ทองเอก ทองหยิบ ทองหยอด ขนมกง และขนมชั้น จัดทำอย่างประณีต อบควันเทียม และดอกไม้หอมกรุ่น หรือเลือกขนมที่ชอบใจนำมาจัดลงในกระทงใบตองจีบขนาดย่อม แล้วเรียงลงในเตียบหรือพานขนาดใหญ่ จัดไว้สองเตียบเป็นคู่กัน ครอบด้วยใบตอง และใช้ฝาชีหรือผ้าโปร่งลูกไม้คลุมอีกชั้นหนึ่ง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก คุณแฟรงค์และคุณเจมส์
หวังว่าขั้นตอนของพิธีแห่ขันหมากจะเป็นประโยชน์ และช่วยให้บ่าวสาวเข้าใจการจัดขบวนลำดับพิธีแห่ขันหมากได้ง่ายขึ้น หากบ่าวสาวท่านใด กำลังมองหาสถานที่จัดงานแต่งงานที่มีห้องจัดงานแต่งงานให้เลือกหลากหลายแบบ พร้อมพนักงานที่จะคอยแนะนำให้คำปรึกษาตลอดช่วงการจัดงานแต่งงาน ไม่เฉพาะในเรื่องสถานที่จัดงานเท่านั้น แต่ยังใส่ใจไปถึงดีเทลต่างๆ ของงาน ตามที่ประสบการณ์ของทีมงานจะจัดหาให้ได้ โดยไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์ ติดต่อสอบถามที่ Impact Wedding ได้เลย ที่ 02 833 5252 หรือ Facebook Page: Impact Wedding
ติดต่อเรา : คลิก